วันพฤหัสบดีที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

Coasting

Coasting (ใช้แบบผิดๆ จะติดแล้วแก้ยาก)

การเหยียบคลัตช์ก่อนเข้าเกียร์ เป็นเรื่องปกติของการขับรถระบบเกียร์ธรรมดาที่จะต้องฝึกหัดและใช้ให้ได้จนชำนาญ เพื่อการเข้าเกียร์และการปรับเปลี่ยนเกียร์อย่างเป็นระบบ การปล่อยคลัตช์ก็จะต้องปล่อยให้ได้อย่างมีจังหวะและนุ่มนวล เรียกว่าถ้าจะออกรถก็จะต้องไม่ให้เกิดอาการสั่น กระตุก สะดุด ดับ ซึ่งหลายคนเคยเกิดอาการท้อและอยากจะเปลี่ยนไปใช้ระบบเกียร์อัตโนมัติไปเลยก็มี เพราะไม่ต้องมาคอยกังวลวุ่นวายใจกับการเปลี่ยนเกียร์ โดยเฉพาะเวลาที่ต้องจอดติดอยู่บนเนิน บนทางลาดชัน บนสะพาน อันนี้คงไม่ต้องบอกครับว่ามันเป็นเวลาที่แสนจะทรมานกันขนาดไหน และถ้าจอดติดอยู่เป็นเวลานานๆ แถมยังขยับไปได้ทีละน้อยๆ อีกต่างหาก ฮู้! สุดยอด... นี่เราผ่านมาได้ยังไงกันละเนี่ย...!

คงยังพอจะจำกันได้นะครับกับประสบการณ์ในการหัดขับรถเกียร์ธรรมดาที่ผ่านมาเมื่อครั้งกระนั้น หลายคนครับที่ยังคุ้นเคยกับการเหยียบคลัตช์ก่อนการเหยียบเบรก คือไม่ว่ารถจะวิ่งเร็วหรือวิ่งช้าก็จะต้องคอยเหยียบคลัตช์ก่อนเหยียบเบรกเสมอ คือกลัวว่าถ้าไม่ทำอย่างนั้นแล้ว ประเดี๋ยวรถมันจะสั่น กระตุก สะดุด และดับไป ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องที่ผิดซะเลยทีเดียวครับแต่ถ้าใช้แบบผิดๆ อาจทำให้เกิดอุบัติเหตุขึ้นมาได้ครับ การที่เหยียบคลัตช์ก่อนเหยียบเบรกในขณะที่รถวิ่งเร็ว จะทำให้รถเคลื่อนที่ไปข้างหน้าด้วยความเร็วมากกว่าความเร็วปกติ อาการที่เกิดขึ้นนี้เรียกว่า Coasting คือการปล่อยให้รถแล่นไปเองด้วยแรงเฉื่อยโดยปราศจากแรงฉุดของเครื่องยนต์ ซึ่งเป็นผลทำให้ระยะทางในการหยุดรถมากขึ้น การใช้เบรกก็จะต้องออกแรงมากขึ้น หากขับรถอยู่ในทางตรงและมีสิ่งกีดขวางอยู่ข้างหน้าจำเป็นจะต้องหยุดรถ ก็จะรู้สึกได้ครับว่าจะต้องออกแรงเบรกมากกว่าปกติ ซึ่งจะทำให้สิ้นเปลืองผ้าเบรก แต่ที่สำคัญกว่าก็คือระยะทางในการหยุดรถก็จะมากขึ้นซึ่งไม่พอในการทีจะต้องหยุดรถ และถ้าหากเป็นทางโค้งก็อาจจะทำให้รถหลุดออกจากโค้งนั้นไปได้ครับ

ด้วยความคุ้นเคยกับการฝึกหัดขับในครั้งแรกจนติดเป็นนิสัยไปซะแล้ว และยังไม่มีโอกาสที่จะได้ปรับเปลี่ยนวิธีการใช้คลัตช์ที่ถูกกต้อง เนื่องจากยังไม่มีโอกาสได้เจอกับประสบการณ์ในการหยุดรถไม่ทัน หรือการขับรถหลุดออกจากโค้ง คงไม่ต้องรอหาประสบการณ์ถึงขั้นนั้นกันหรอกนะครับ เอาเป็นว่า คลัตช์มีไว้เข้าเกียร์ไม่ต้อง(เลีย)เลี้ยง รถวิ่งช้าให้เหยียบคลัตช์ก่อนเหยียบเบรก ถ้ารถวิ่งเร็วก็ให้เหยียบเบรกก่อนเหยียบคลัตช์ และไม่ควรวางเท้าไว้บนแป้นคลัตช์ตลอดเวลาขณะที่รถวิ่งเร็วเพราะอาจจะทำให้เผลอเหยียบคลัตช์ก่อนเหยียบเบรกได้ หากทำได้อย่างนี้แล้วก็จะช่วยแก้อาการ Coasting ได้ครับ นอกจากจะเป็นการช่วยป้องกันการเกิดอุบัติเหตุแล้ว ยังช่วยลดการสิ้นเปลืองของคลัตช์และเชื้อเพลิงได้ด้วยครับ แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือ จะต้องฝึกหัดขับครับเพราะอะไรที่ใช้มานานจนติดเป็นนิสัยไปซะแล้วมันแก้ยากจริงๆ ครับ

วันศุกร์ที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

Foot Brake

Foot Brake (ใช้ไม่ทันได้คิด อาจมีสิทธิ์จะไม่ได้ใช้)

เบรกเท้า (Foot Brake) เป็นอุปกรณ์ความปลอดภัยที่จำเป็น และใช้บ่อยที่สุดโดยเฉพาะรถที่ขับเคลื่อนด้วยเกียร์อัตโนมัติ ซึ่งผู้ใช้รถส่วนใหญ่ก็คุ้นเคยและใช้งานอยู่เป็นประจำ แต่ก็ยังไม่สามารถที่จะไว้วางใจได้ตลอดเวลา ถึงแม้ว่าเทคโนโลยีที่เกี่ยวกับระบบเบรกจะได้มีการพัฒนาขึ้นมาเป็นอย่างดีแล้วก็ตาม เพราะองค์ประกอบในการที่จะทำให้รถหยุดได้อย่างที่ต้องการนั้น ไม่ได้ขึ้นอยู่กับระบบเบรกเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่มีองค์ประกอบอื่นๆ เข้ามาประกอบด้วยเช่น ความเร็วของรถ น้ำหนักที่บรรทุก สภาพถนน และความสามารถของผู้ขับรถ ซึ่งเป็นองค์ประกอบที่สำคัญ การที่ผู้ขับรถทำความเข้าใจ และใช้เบรกเท้าให้ได้อย่างถูกต้อง ประมาณว่า ถ้าจะใช้เมื่อไหร่จะต้องรู้ให้ได้ก่อนว่า จะใช้อย่างไร? ระยะทางที่ใช้มีพอหรือไม่? ผลที่ได้ตามมาจะเป็นอย่างไร? ก็จะช่วยป้องกันภัยที่อาจจะเกิดขึ้นจาการใช้เบรกเท้าได้


เราไม่ได้จำเป็นต้องใช้เบรกเท้าทุกครั้งที่มองเห็นสถานการณ์ต่างๆ ที่ต้องการการแก้ไข แต่จะนำข้อมูลที่ได้จากการมองเห็นสถานการณ์ต่างๆ มาคิดว่าจะแก้ไขสถานการณ์นั้นๆ ได้อย่างไร และเมื่อเลือกและตัดสินใจแล้วว่าจะต้องใช้เบรกเท้า จึงทำการเหยียบเบรกเท้า ซึ่งระยะเวลาที่คิดก่อนที่จะเหยียบเบรกนี้เรียกว่า ระยะคิด (Thinking Distance) ซึ่งเป็นความสามารถของผู้ขับรถที่มีไม่เท่ากัน ทำให้รยะทางทีได้ในการหยุดรถ (Braking Distance) ก็ไม่เท่ากันด้วย (ในคนๆ เดียวกัน แต่ต่างเวลากัน ก็ไม่เท่ากันโดยเฉพาะ เวลาง่วง เมา ฯลฯ)

ฉะนั้นนอกจากจะต้องหมั่นคอยดูแลและเอาใจใส่เบรกเท้าเป็นพิเศษแล้ว ต้องรู้และเข้าใจถึงระบบการทำงานและประสิทธิภาพในการใช้งาน ต้องใช้ให้ได้อย่างนุ่มนวล หลีกเลี่ยงการเบรกแบบกะทันหัน การเบรกอย่างรุนแรงในทางโค้งและเลี้ยว ในสภาพทีถนนลื่น ต้องมีระยะทางพอในการที่จะหยุดรถได้ และที่สำคัญที่สุดก็คือ ต้องคิดให้ได้ก่อนทุกครั้งที่จะใช้เบรกเท้า ก็จะช่วยป้องกันภัยที่อาจจะเกิดขึ้นจากการใช้เบรกเท้าได้เป็นอย่างดี (การใช้เบรกเท้าแบบไม่ทันได้คิด อาจมีสิทธิ์จะไม่ได้ใช้อีกต่อไป นะ จะบอกให้)


Safety Driving Training

บทความที่ได้รับความนิยม

ผู้ติดตาม