วันศุกร์ที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2552

Auto Transmission

Auto Transmission (ผิดแบบไม่ได้ตั้งใจจริงๆ)

ความผิดของใครบางคนที่ใช้เกียร์อัตโนมัติ (Auto Transmission) ที่มักจะเผอเรอพลั้งเผลอกันอยู่เป็นประจำ ประมาณว่าจะเดินหน้ากลับเป็นถอยหลัง พอจะถอยหลังก็กลายเป็นเดินหน้าไปซะอย่างนั้น ทั้งๆ ที่ก็ไม่ได้ตั้งใจจริงๆ ?

อันนี้ก็ต้องเห็นใจกันนะครับ คือสภาพการจราจรบ้านเรา ถ้าเป็นเมื่อก่อนคงต้องบอกว่าในกรุงเทพฯ แต่เดี๋ยวนี้ (อีกไม่กี่วันก็จะปี 2553) คงจะต้องบอกว่าสภาพการจราจรในเมืองบ้านเรา ยกเว้นบางจังหวัดนะครับ (ยังไม่กล้าพยากรณ์ครับว่าจะเกิดขึ้นภายในปีที่เท่าไหร่จึงจะครบทุกจังหวัด) ไม่เอื้ออำนวยให้ต้องใช้รถเกียร์ธรรมดาครับ โดยเฉพาะการขับรถในเมืองในชั่วโมงที่เร่งด่วน (ชั่วโมงที่คนส่วนใหญ่จะต้องออกมาพร้อมหน้าพร้อมตากันบนท้องถนนโดยไม่ได้นัดหมาย เพื่อไปทำภารกิจประจำวันในแต่ละวัน ในทุกๆ วัน) คงพอจะเข้าใจได้นะครับว่า อาการในสภาพการจราจร ณ เวลานั้น มันจะสนุกสนานกันขนาดไหน ถ้าไม่ได้ใช้รถเกียร์อัตโนมัติ ?


ความผิดแบบไม่ได้ตั้งใจ ประเภทพลั้งเผลอเดินหน้าเป็นถอยหลัง ถอยหลังเป็นเดินหน้า มักเป็นความผิดพลาดที่มีให้เห็นกันอยู่บ่อยๆ บางรายที่โชคดีก็แค่กันชนรถด้านหน้าไปชนกับกันชนรถด้านหลังของรถคันหน้า หรือไม่ก็กันชนรถด้านหลังไปชนกับกันชนรถด้านหน้าของรถคันที่อยู่ด้านหลัง และถ้าบังเอิญวันนั้นเผอเรอด้วยกันทั้งคู่ก็คงจะยุ่งๆ ปนงงๆ กันนิดหน่อยครับ คือตกลงไม่รู้ว่าใครจะผิดใครจะถูกดีครับ บางรายที่โชคร้ายกับความผิดแบบไม่ได้ตั้งใจนี้มีถึงขั้น ขับชนทะลุกำแพงบ้านตัวเอง, ตกลานจอดรถ, ตกน้ำตกท่า, ตกเขาตกเหว ฯลฯ คงจะเคยได้ดูข่าวทางทีวี หรือไม่ก็ภาพข่าวตามหน้าหนังสือพิมพ์กันมาบ้างนะครับ โดยเฉพาะใน net มีให้ดูเยอะครับ ดูแล้วรู้สึกงงๆ มั้ยครับว่าตกลงมันเกิดอะไรขึ้นกันแน่ ?
ตั้งสมาธิและสติให้ดีๆ นะครับ หมายถึงเวลาที่คุณจะขับรถเกียร์อัตโนมัติครับ ในข้อดีก็มักจะมีข้อเสียเป็นเรื่องธรรมดาครับ ถ้าได้เรียนรู้และเข้าใจโดยเฉพาะในเรื่องการเตรียมตัวก่อนการออกรถที่ปลอดภัยเช่น การใช้ตำแหน่งเกียร์ขณะจอด (P หรือ N) ตำแห่งเกียร์ขณะขับ (D หรือ R) การใช้เบรกเท้า (ก่อนเข้าเกียร์) การใช้เบรกมือที่สัมพันธ์กับการออกรถ (ปลดหลังเปลี่ยนเกียร์) และก็ฝึกหัดให้ติดจนเป็นนิสัยแห่งความปลอดภัยก่อนการออกรถ อันนี้รับรองว่าจะช่วยอาการที่ว่าเผอเรอไปได้ที่เดียวเลยครับ ฟังดูก็ไม่ใช่เรื่องยากเกินไปใช่ไหมครับ ระวังให้ดีนะครับเรื่องที่ว่าทำได้ไม่ยากแต่ไม่ได้ทำ จะไปเจอกับเรื่องอะไรที่มันยุ่งยาก เพราะว่า ผิดแบบไม่ได้ตั้งใจ เข้าจริงๆ !

วันเสาร์ที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

Overtaking

Overtaking (อดทนให้เหนือกว่าแค่ต้องการจะแซง?)

หลายครั้งที่เราขับรถตามหลังรถคันหน้าที่มีความเร็วที่ไม่สัมพันธ์กับสภาพจราจร ประมาณว่าเขาช้าแต่เราเร็ว ซึ่งความเร็วที่เราใช้ก็เป็นปกติและก็เป็นความเร็วที่ไม่ได้เกินกว่าที่กฎหมายได้กำหนดไว้ แต่ด้วยเหตุผลหลายประการของรถคันที่อยู่ข้างหน้าเรามีความจำเป็นที่จะต้องวิ่งอย่างช้าๆ จนทำให้เราซึ่งขับรถตามมาข้างหลังต้องทำการแซงผ่านขึ้นหน้าไป ฟังดูแล้วก็เป็นเรื่องปกติทั่วไปเวลาที่เราขับรถอยู่บนท้องถนนกันนะครับ?
ใช่ครับ! ตราบใดที่ยังคงเป็นแค่เหตุผลตามที่กล่าวมาข้างต้นและไม่มีเงื่อนไขอื่นๆ เข้ามาเกี่ยวข้อง แต่ถ้าเมื่อไหร่ก็ตามที่มีเงื่อนไขอื่นๆ เข้ามาเกี่ยวข้อง ก็คงจะไม่ใช่แค่เรื่องปกติธรรมดาที่เราจะต้องขับแซงผ่านขึ้นหน้ารถคันนั้นไปให้ได้ครับ เงื่อนไขที่ว่านั้นก็คือ การแซงผ่านขึ้นหน้ารถคันอื่นในขณะที่มีรถวิ่งสวนมาในระยะกระชั้นชิด บริเวณทางที่คับแคบ บริเวณทางโค้ง สะพาน ทางร่วมทางแยก ทางรถไฟ ทางที่ทัศนวิสัยการมองเห็นได้ไม่ดี (หมอก ควัน ฯลฯ) อีกสารพัดเส้นทางนะครับ ซึ่งนอกจากจะเป็นข้อกฎหมายที่บัญญัติไว้ว่าห้ามแซงแล้ว ทางที่กล่าวมาทั้งหมดนั้นเมื่อไหร่ที่มีการตัดสินใจที่ผิดพลาด ก็จะทำให้เกิดอุบัติเหตุ และที่สำคัญมักจะรุนแรงครับ…!


ความจำเป็นในการแซง? ความคุ้มค่าที่ต้องแซง? ความปลอดภัยที่ต้องแซง? ล้วนเป็นเหตุผลที่จะต้องนำมาใช้ทุกครั้งก่อนเสมอที่ต้องทำการแซงผ่านขึ้นหน้ารถคันอื่น การมองเพื่อความปลอดภัย การสังเกตและการคาดการณ์ล่วงหน้า การให้สัญญาณที่ถูกต้องและเหมาะสม เป็นเทคนิคของการขับรถเชิงป้องกันอุบัติเหตุ ที่ต้องทำความเข้าใจและฝึกหัดใช้ให้ติดจนเป็นนิสัย การขับรถอย่างช้าของรถคันที่อยู่ข้างหน้าเรานั้นไม่ใช่เหตุผลเดียวที่เราจำเป็นต้องแซงครับ การใช้ความอดทนให้เหนือกว่าแค่ต้องการจะแซง และหลีกเลี่ยงการตัดสินใจในเสี่ยววินาทีสุดท้าย ก็จะช่วยให้เราและผู้ที่ใช้ทางร่วมกันได้รับความปลอดภัยมากขึ้นครับ

วันพุธที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2552

Understeer Oversteer

Understeer Oversteer (หมุนกันให้ดีๆ นะ มันน่ากลัว!)

หลายท่านที่ขับรถมาได้สักระยะหนึ่งคงพอจะมีประสบการณ์ที่ทำให้รู้สึกได้ว่า ถนนที่เราขับรถไปในแต่ละวันมันมีอะไรๆ อยู่นะ บางวันก็จะให้ความรู้สึกสบายๆ แบบผ่อนคลาย บางวันก็จะให้ความรู้สึกสนุกๆ แบบท้าทาย บางวันก็ให้ความรู้สึกหงุดหงิดจิตตกลงไปได้บ้าง แต่บางวันก็ทำให้รู้สึกได้ถึงความน่ากลัวปนความหวาดเสียวยังงั้ย ยังไงก็ไม่รุ...?

คงพอจะนึกภาพกันออกนะครับว่าผมหมายถึงถนนที่มีสภาพเป็นอย่างไร? ห่วงอยู่ก็แต่ท่านที่ยังไม่รู้ว่าสภาพถนนที่ทำให้เกิดความรู้สึกต่างๆ ที่พูดไปแล้วเนี่ยจะต้องเตรียมตัวกับการขับรถกันอย่างไรบ้าง ก็ขอภาวนาอย่าให้ได้เจอะ อย่าได้เจอ กับถนนที่มันทำให้ต้องรู้สึกน่ากลัวปนหวาดเสียวเข้าก็แล้วกันครับ เพราะมันคงจะไม่ใช่เรื่องที่สนุกแน่ๆ...!

มีหลายถนนครับที่ทำให้เรารู้สึกว่ามันน่ากลัวปนหวาดเสียวเวลาที่ได้ขับรถเข้าไป แต่ที่ผมจะพูดถึงก็คือ ถนนที่มันโค้งครับ ไม่ว่าจะเป็นโค้งซ้าย หรือว่าโค้งขวา โค้งกว้าง หรือว่าโค้งแคบ โค้งแล้วก็โค้งอีก แต่ไอ้ที่น่ากลัวที่สุดก็คือ โค้งที่ถ้าไม่ได้ขับรถเข้าไปก็คงจะไม่มีวันได้รู้หรอกว่านี่มันเป็นโค้งนะ จะบอกให้!


ก็คงต้องกลับไปเริ่มต้นกันที่พ้นฐานการขับรถกันมาเลยนะครับ ใครที่มีพื้นฐานและมีโอกาสได้ฝึกมาเป็นอย่างดี เจอสถานการณ์แบนี้ก็เรียกได้ว่า ชิวๆ ครับ ส่วนใครที่มีพื้นฐานมาไม่ดีแต่มีโอกาสได้เจอประสบการณ์จริง แล้วก็แก้ไขสถานการณ์กันมาได้ อันนี้ก็พอจะช่วยตัวเองได้ครับ แต่ก็อย่างที่ว่ามานั่นแหละครับ โค้งมันมีหลากหลายรูปแบบครับ ฉะนั้นการจับพวงมาลัยในตำแหน่งที่ถูกต้อง และการหมุนพวงมาลัยอย่างเป็นระบบและถูกวิธี จึงเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่งเมื่อต้องเจอะเจอกับสถานการณ์ในขณะนั้นครับ ซึ่งอาการ Under Steer (หมุนพวงมาลัยมาก แต่รถเลี้ยวน้อยกว่าที่ควรจะเลี้ยว) Over Steer (หมุนพวงมาลัยน้อย แต่รถเลี้ยวมากเกินกว่าที่ควรจะเลี้ยว) เกิดจากการที่เราขับรถด้วยความเร็วสูงในขณะที่ขับรถเข้าไปในโค้ง การเร่งเปลี่ยนความเร็วในโค้งแบบกะทันหันขณะที่หมุนพวงมาลัย การหมุนพวงมาลัยแบบกระตุกกระชาก หมุนอย่างรวดเร็วและแรงเกินไปในโค้ง และยังมีสาเหตุอื่นๆ อีกนะครับ ที่เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ซึ่งก็จะยิ่งทำให้เกิดอาการเพิ่มมากขึ้นครับ เช่น ชนิดการขับเคลื่อนของรถ (ล้อหน้าหรือล้อหลัง) สภาพดออกยาง สภาพถนน ฯลฯ การขับรถด้วยความไม่ประมาทจึงยังคงเป็นเรื่องที่นำมาใช้ได้เป็นอย่างดี และถ้าได้เพิ่มความถูกต้องบวกกับการฝึกหัดที่ดี เรื่องที่ว่ามันน่ากลัวปนหวาดเสียวก็คงจะไม่เกิดขึ้นมาได้ง่ายๆ หรอกนะครับ (หมุนให้ดีๆ นะ มันน่ากลัว!)

วันอาทิตย์ที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2552

Hydroplane

Hydroplane (ขับรถนะไม่ใช่ขับเครื่องบิน)

ขับรถกันนะครับ? แต่บางครั้งสภาพถนนก็ทำให้เรารู้สึกไปได้ว่า นี่เรากำลังขับรถหรือว่าเรากำลังจะขับเครื่องบินน้ำอยู่กันล่ะเนี่ย ก็รู้สึกเหมือนว่ามันกำลังจะบินขึ้นไปอย่างไงอย่างงั้นซะ! คงจะไม่โดนถนนหลอกให้หลงประเด็นกันไปได้ขนาดนั้นหรอกนะครับ แต่หลายครั้งที่การขับรถในบริเวณที่มีน้ำท่วมขัง เรามักจะลืมไปว่าสมรรถนะของรถยนต์จะวิ่งได้ดีที่สุดก็คือ การวิ่งบนสภาพถนนที่ปกติ (ถนนแห้ง) ฉะนั้นเมื่อไหร่ที่ต้องวิ่งอยู่บนสภาพถนนที่ไม่ปกติ โดยเฉพาะถนนเปียก หรือถนนที่มีน้ำท่วมขัง การขับรถวิ่งผ่านน้ำด้วยความเร็วสูง อาจจะทำให้รถลื่นไถล หรือเกิดการหมุนของรถขึ้นมาได้ อาการเช่นนี้เรียกว่า อาการเหินน้ำ (Hydroplane) นั่นเองครับ


อาการเหินน้ำ หรือการลอยตัวของยางที่ไม่สามารถยึดเกาะถนนได้เนื่องมาจากความเร็วของรถและปริมาณของน้ำที่แทรกเข้ามาระหว่างล้อและถนน ทำให้เกิดลิ่มน้ำอยู่ที่ยาง การควบคุมทิศทางด้วยพวงมาลัย และการควบคุมการหยุดรถด้วยเบรก จะทำได้ไม่ดี บางครั้งถึงขั้นไม่สามารถควบคุมได้เลย ก็ขึ้นอยู่กับสภาพดอกยาง ปริมาณน้ำ และความเร็วของการขับรถในขณะนั้นครับ เปรียบเหมือนการขับเรือเร็ว การเล่นสกีน้ำ หรือการขับเครื่องบินน้ำนั่นแหละครับ ความเร็วที่เพิ่มขึ้นก็จะทำให้การลอยตัวมากขึ้นทำให้แล่นไปได้เร็วขึ้น แต่ว่าเรากำลังขับรถอยู่นะครับ ฉะนั้นก็จะต้องทำความเข้าใจและระมัดระวังกันเป็นพิเศษครับ การขับรถให้ช้าลงน้ำหนักรถก็จะเพิ่มมากขึ้น ทำให้การยึดเกาะถนนของยางทำได้ดี ความเร็วที่เกินกว่า 50 กม./ชม. ที่บริเวณน้ำท่วมขัง ดอกยางจะรีดน้ำได้ไม่ดี และถ้าดอกยางไม่ดีบวกกับความเร็วที่คุ้นเคยในชีวิตประจำวัน (100-120 กม./ชม.) อันนี้ก็ขอแนะนำว่า น่าจะขับเครื่องบินน้ำดีกว่าครับ คือจะได้เหินสมใจเลยครับ

วันเสาร์ที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2552

Must Clear

Must Clear (ต้องสะอาดและต้องมองดูบ่อยๆ)

สิ่งที่นักขับรถส่วนใหญ่ให้ความสำคัญ โดยเฉพาะท่านเจ้าของรถป้ายแดงมักจะให้ความสำคัญเป็นพิเศษก็คือเรื่องความสะอาดของตัวรถครับ และก็มักจะคอยมองดูอยู่บ่อยๆ เรียกได้ว่าแทบจะทุกเวลาเลยล่ะครับ ก็กว่าจะหามาครอบครองได้เนี่ยไม่ใช่เรื่องง่ายๆเลยนะครับ (สำหรับผู้ที่มีรายได้พอที่จะกัดฟันทนเพื่อความจำเป็น) และพอสะสมทรัพย์ที่พอจะเป็นเงินดาวน์ได้ก็ยังต้องใช้ความพยายามอย่างแสนสาหัสอีกนะครับ คือต้องเที่ยวไปตามงานมอเตอร์โชว์ ต่างๆ เพื่อที่จะหาให้ได้เงื่อนไขที่ดีที่สุด ตรงสเป๊กมากที่สุด ถูกใจที่สุด (หมายถึงรถนะครับ) แล้วยังมีอีกตั้งหลายเรื่องนะครับกว่าที่จะได้รถมาสัก 1 คัน พอได้มาแล้วก็ยังต้องดูแลรักษาเป็นอย่างดีต่อไปอีก 3-7 ปี กว่าที่จะได้เป็นเจ้าของรถตัวเองจริงๆ ก็มันลำบากซะขนาดนี้แล้วจะไม่ให้หมั่นคอยดูแลทำความสะอาดและคอยมองดูอยู่บ่อยๆ ได้ยังไงจริงมั้ยละครับ? พูดซะเยอะแยะเลย ยังไม่ได้เข้าเรื่องที่จะพูดเลยครับ ที่บอกว่า Must Clear (ต้องสะอาดและต้องมองดูบ่อยๆ) ไม่ใช่เรื่องตัวรถครับ แต่เป็นเรื่องของกระจกครับ นอกจากจะต้องสะอาดแล้ว ในเวลาทีขับรถก็ต้องหมั่นคอยมองดูบ่อยๆ เรียกได้ว่าถ้าเผลอเมื่อไหร่มีโอกาสงานเข้าได้ครับ ไม่เฉพาะรถป้ายแดงเท่านั้นนะครับ รถที่เปลี่ยนป้ายมาแล้ว ไม่ว่าจะพึ่งเปลี่ยน หรือเปลี่ยนมานานแล้ว หรือจะเปลี่ยนมากี่มือแล้วก็ตาม สิ่งที่ต้องสะอาด และก็ต้องมองดูบ่อยๆ ก็คือกระจกนั่นเองครับ!


ก็สะอาด ก็ดูอยู่แล้ว เช็ดเสมอนั่นแหละ หลายท่านคงรำพึงรำพันประมาณนี้หรือเปล่าครับ ถ้าสิ่งที่ท่านทำความสะอาดเช็ดถูอยู่นั้น เป็นกระจกหน้า กระจกข้าง กระจกหลัง ก็ถือได้ว่าดีอยู่แล้วครับ มีหลายคันครับ ที่สะอาดเฉพาะกระจกด้านหน้า จะด้วยเหตุผลกลใดก็แล้วแต่นะครับ แต่สิ่งที่อยากจะบอกก็คือ กระจกมองข้าง กับกระมองหลังครับ ซึ่งความสำคัญเรียกได้ว่าไม่มีใครได้เปรียบเสียเปรียบกันเลยล่ะครับ เมื่อไหร่ที่ต้องปรับเปลี่ยนทิศทาง หรือปรับเปลี่ยนความเร็ว (การแซง, การเลี้ยว, การหยุด, การจอด ฯลฯ) กระจกมองข้างกับกระจกมองหลังเนี่ยแหละครับที่จะเป็นตัวช่วยให้รถที่รักของเรา ไม่ไปเกี่ยว เฉี่ยว หรือชน กับใครได้ครับ คือการที่เรามองให้ได้ ไม่ว่าจะเป็นการมองกระจกมองข้างด้านซ้าย กระจกมองหลัง กระจกมองข้างด้านขวา หรือ การมองกระจกมองข้างด้านขวา กระจกมองหลัง กระจกมองข้างด้านซ้าย หรือ การมองกระจก... ซึ่งการมองที่สัมพันธ์กัน จะทำให้เราคาดการณ์เหตุการณ์ล่วงหน้าได้เป็นอย่างดี แต่สิ่งที่สำคัญก็คือ เมื่อไหร่ที่เราต้องมอง มันจะต้อง "Must Clear" คือมันจะต้องสะอาดแล้วก็จะต้องไม่มีอะไรมาปิดบังด้วยก็เท่านั้นเองนั่นแหละครับ!

วันจันทร์ที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2552

Checking Inside

Checking Inside (การตรวจสอบความปลอดภัย ภายในรถ)

การตรวจสอบความปลอดภัยภายในที่บริเวณพื้นรถด้านคนขับ และด้านหลังคนขับ เป็นอีกจุดหนึ่งที่เรามักจะหลงลืมและมองข้ามความปลอดภัยครั้งสำคัญนี้ไป ซึ่งก็เปรียบเหมือนระบิดเวลาที่รอคอยการระเบิดอย่างไงอย่างงั้นเลยครับ ลองคิดดูนะครับ หลังจากเปิดประตูเข้าไปนั่งในรถแล้ว ทำการปลดล็อกอุปกรณ์ป้องกันการถูกขโมย คือกลัวว่าใครจะมาขโมยรถที่เรารักเป็นหนักหนานี้ไปก็ถือว่าเป็นเรื่องปกติครับ ซึ่งไอ้เจ้าอุปกรณ์อันนี้ก็จะมีขนาดและรูปร่างที่แตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับความรักของเจ้าของรถที่มีให้กับรถของเขาครับ ไม่ว่าจะเป็นแบบล็อกพวงมาลัยอย่างเดียว ล็อกเบรกอย่างเดียว หรือจะเป็นแบบที่สามารถล็อกโน่น นี่ นั่น ได้ทุกอย่าง หลังจากที่ได้ทำการปลดล็อกแล้วนี่แหละครับ ที่มักจะมีปัญหาตามมาว่า จะเอาไอ้เจ้าตัวล็อกนี้ไปวางไว้ที่ไหนดี? ซึ่งคำตอบที่ได้ส่วนใหญ่ก็คือ วางไว้ที่พื้นรถตรงคนขับนั่นแหละครับ เนื่องจากว่าเป็นที่ๆ สะดวกที่สุด แล้วไงต่อล่ะครับ คราวนี้ก็ขับรถออกไป ระหว่างที่ขับก็ธรรมดาๆ ไม่มีอะไร วิ่งบ้างหยุดบ้าง เร็วบ้างช้าบ้าง ตามสภาพการจราจรของบ้านเราครับ ที่นี้ไอ้เจ้าอุปกรณ์ป้องกันไม่ให้ใครมาเอารถที่รักของเราไปเนี่ย มันก็ไม่ยอมอยู่กับที่ คือเลื่อนไหลไปตาสภาพของการหยุดและการจอดรถในแต่ละครั้งเหมือนกันครับ ยังครับ ยังไม่ระเบิดครับ เวลายังไม่อำนวย แล้วองค์ประกอบก็ยังไม่ครบครับ ระหว่างที่เพลิดเพลินกับรถติด?? ไอ้เจ้าอุปกรณ์แสนดีของเรา มันก็ได้เคลื่อนตัวไปอยู่ที่ใต้แป้นเบรกของเราตอนไหนก็ไม่มีใครทราบ (ถึงตอนนี้ก็ยังไม่มีใครทราบครับ) เวลาและองค์ประกอบมาแล้วครับ! ถนนครับ ถนน มันเริ่มจะโล่งแล้วครับ ก็ได้จังหวะใช้ความเร็วเพื่อชดเชยกับเวลาที่สูญเสียไป แต่แล้วความจริงก็คือความจริง มันกลับมาติดอีกแล้วครับ รถครับ รถติด เรียกว่ากำลังเพลินเลย เฮ้อ! ต้องหยุดรถอีกแล้ว คราวนี้ครับ มันไม่ยอมหยุด พยายามเหยียบเบรกเท่าไหร่ รถมันก็ไม่ยอมหยุด โชคดีครับมีรถอยู่ข้างหน้า ก็เลยทำให้หยุดรถได้ อ้าว! แล้วจะโชคดียังไง ก็ลองไม่ใช่รถซิครับ จะโชคร้ายอีกกี่ต่อก็ไม่รู้ คล้ายๆ กับระเบิดเวลามั้ยครับ แต่เป็นระเบิดเวลาที่เราว่างเอาไว้เพื่อให้มันระเบิดตัวเราเองแบบไม่ได้ตั้งใจเลยครับ!

แค่หนังตัวอย่างเท่านั้นนะครับ ยังมีเรื่องจริงที่ลึกลับซับซ้อนและน่ากลัวกว่านี้เยอะครับ ใครที่ยังไม่เคยเจอก็ให้จินตนาการไปก่อนแล้วกันนะครับ แต่ก็ขอภาวนาว่าอย่าได้เจอะอย่าได้เจอเลยครับ อย่างเช่นเรื่องผ้ายางปูพื้นกั้นน้ำขอบแข็ง, ขวดน้ำของฟรีที่ปั้มให้มา, รองเท้าคู่โปรด, เบาะรองนั่งนุ่มๆ, ตุ๊กตาน่ารัก, หมอนหนุนคอ ฯลฯ อีกจิปาฐะ ที่นักขับรถที่เป็นนักสะสมด้วย มักจะเอามาวางไว้ที่พื้นรถด้านคนขับโดยมิได้ตั้งใจเสมอๆ แล้วพื้นรถด้านหลังคนขับมันเกี่ยวอะไรด้วยล่ะ เกี่ยวครับ ก็ถ้ามันรอดผ่านใต้เบาะนั่งคนขับมาได้ ก็เงื่อนไขเดียวกันเลยนั่นแหละครับ ทางที่ดีก็ควรจะย้ายสัมภารกทั้งหมดไปอยู่ในที่ๆ ที่เขาควรจะอยู่กันดีกว่าครับ และถ้าเป็นไปได้ก็เอาออกจากรถไปบ้างก็ได้ครับ นอกจากจะปลอดภัยแล้ว ยังช่วยลดน้ำหนักรถเป็นการประหยัดน้ำมันอีกต่างหากนะครับ หวังว่าการตรวจสอบความปลอดภัย ภายในรถครั้งต่อไปที่จะขับรถ คงจะไม่ลืมกันนะครับ :)

วันจันทร์ที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2552

Walk Around 2

Walk Around 2 (การตรวจสอบความปลอดภัย ภายนอกบริเวณรอบรถ “ยกที่ 2”)
ตกลงได้ทำกันแล้วนะครับ ถ้าใครทำเป็นประจำอยู่แล้วก็ขอแสดงความยินดีด้วยครับ และถ้าได้ช่วยบอกต่อๆ กันไปก็ขอขอบคุณมาไว้ ณ ที่นี้ด้วยครับ ส่วนใครที่ยังลังเลอยู่ก็ขอเอาใจช่วยให้ตัดสินใจได้ภายในเร็ววันนี้นะครับ

มาต่อกันเลยนะครับ ที่จริงเรื่องการตรวจสอบความปลอดภัย บริเวณภายนอกรอบรถมีรายละเอียดและขั้นตอนที่ต้องปฏิบัติให้ได้อย่างถูกต้องและก็ต้องทำกันอย่างจริงๆจังๆกันเลยล่ะครับ โดยเฉพาะรถขององค์กร และรถยนต์สาธารณะ ลองนึกตามดูนะครับว่ารถที่ผมยกตัวอย่างมานี้จะต้องทำอะไรกันบ้าง รถจักรยาน รถจักรยานยนต์ รถเก๋ง รถกระบะ รถตู้ รถบัส รถบรรทุก รถไฟ ฯลฯ แต่ที่น่าห่วงก็คือรถยนต์ส่วนบุคคลนี่แหละครับ

มันเยอะแยะและยุ่งยากไหม? ก็ต้องบอกว่ามันไม่เยอะแยะและยุ่งยากเท่าไหร่ครับ เพียงแต่เราต้องฝึกหัดทำให้ติดจนเป็นนิสัยแห่งความปลอดภัย เราก็จะไม่รู้สึกว่ามันเยอะแยะหรือยุ่งยากอะไรครับ สำหรับ “ยกที่1” ก็ได้พูดไปบ้างแล้วนะครับว่าต้องเตรียมตัวและตรวจสอบอย่างไรบ้าง โดยเฉพาะสิ่งที่มันมีอยู่แต่เรามองไม่เห็นหรือว่าไม่ทันได้สังเกต ซึ่งจริงๆ ก็คือเราไม่ได้ตรวจสอบนั่นเองแหละครับ ความคิดที่ว่าไม่มีอะไรมั้ง! ไม่เป็นไรมั้ง! อันนี้เป็นปัญหาและอุปสรรคที่ต้องจัดการให้ได้ก่อนเลยนะครับ พอเราใส่ใจและให้ความสำคัญในรายละเอียดเราก็จะมั่นใจถึงความปลอดภัยได้แบบ 100 % เลยล่ะครับ สำหรับใครจะเดินวนรอบไหนก่อนอันนี้ก็แล้วแต่ความชอบครับ จะวนซ้าย จะวนขวา จะ 1 รอบ 2 รอบ 3 รอบ ไม่ว่ากันครับ ระหว่างที่ตรวจสอบหาสิ่งของและสิ่งมีชีวิต ก็ให้ตรวจสอบความผิดปกติของรถยนต์ไปด้วยนะครับ เช่น รอยรั่วของระบบต่างๆ (เบรก น่ากลัวที่สุด) สภาพยาง (ล้อที่มีร่องรอยของการเบียดกับฟุตบาทห้ามไว้ใจ) โคมไฟ (ถ้ามีรอยแตกร้าวให้สันนิฐานว่ามันจะไม่ติด) กระจก (กระจกข้างด้านซ้ายมันน่าจะใสกว่าบานอื่นๆนะ) อุปกรณ์ส่วนควบต่างๆ (แผ่นป้ายทะเบียนนี่แหละตัวดี) ทุกอย่างที่กล่าวมาและที่ท่านนึกขึ้นได้นะครับจะต้องอยู่ในสภาพที่พร้อมใช้งานได้เป็นอย่างดี รถกับร่างกายของเราก็ไม่ต่างกันเลยครับ คือมันจะเสื่อมสภาพลงไปทุกวันๆ อยู่ที่ว่าจะซ่อมได้หรือไม่ได้เท่านั้นเองครับ และเรามักจะให้ความสำคัญในเรื่องของความสะอาดของตัวรถก่อนที่จะให้ความสำคัญในเรื่องของความปลอดภัยกันครับ


การที่เราเดินตรงไปที่รถเปิดประตูแล้วก็ขับรถออกไปเป็นเรื่องที่ส่วนใหญ่จะทำกันจนติดเป็นนิสัยไปแล้ว การที่จะมาปรับเปลี่ยนกันใหม่ก็คงจะต้องใช้เวลา แต่สำหรับในเรื่องของอุบัติเหตุแล้วมันมักจะไม่รอให้เราใช้เวลานะซิครับ ไม่มียกเว้นแม้สักเสี่ยวเวลาเลยนะครับ เพราะฉะนั้นนึกได้ตอนไหนก็ต้องทำกันตอนนั้นเลยครับ และถ้าทำได้แบบทุกวันทุกเวลาก่อนขับรถออกไปรับรองได้เลยครับว่า ไอ้เจ้าอุบัติเหตุ ณ จุดเริ่มต้นก่อนการขับรถออกถนน ไม่มีวันที่จะมาได้แอ้มเราเลยจริงมั้ยล่ะครับ walk around walk around walk around :)

Safety Trick Today!
Don’t panic if you overtake a foreign car and the driver is ‘asleep.’ If you look again the ‘passenger’ may have a steering wheel in front of them. :)

วันอาทิตย์ที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

Walk Around 1

Walk Around 1 (การตรวจสอบความปลอดภัย ภายนอกบริเวณรอบรถ "ยกที่ 1")
ความปลอดภัยเบื้องต้นก่อนการขับรถที่หลายคนละเลย และมองข้ามไป เพียงเพราะความเคยชินที่ไม่เคยได้ทำมาตั้งแต่เริ่มต้นที่ใช้รถ ความเร่งรีบ ความไม่สะดวก ความไม่รู้ หรือไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตามแต่ ผลของการกระทำกับการที่ไม่ได้กระทำนั้นมันไม่คุ้มค่ากันเลย หากมีสิ่งที่ไม่คาดคิดเกิดขึ้น แม้ว่าจะเป็นเพียงเรื่องเล็กๆ น้อยๆ หรือจะเป็นเรื่องใหญ่ที่เราเคยได้รู้ได้เห็นและได้ฟังกันตามข่าวต่างๆ ฉะนั้นไม่ว่าจะเป็นรถอะไร ราคาเท่าไหร่ ก็ไม่ได้เป็นเหตุผลที่จะละเลยที่จะไม่ตรวจสอบความปลอดภัย บริเวณภายนอกรอบรถ กันนะครับ!

การตรวจสอบความปลอดภัย ภายนอกบริเวณรอบรถ คงต้องเริ่มกันตั้งแต่ก่อนที่เราจะเดินไปที่รถกันเลยนะครับ โดยวิธีง่ายๆ ด้วยการมองสอดส่ายสายตาบริเวณรอบรถที่เราสามารถจะมองเห็นได้ก่อน หากมีสิ่งใดที่เราคาดว่าจะทำให้เกิดอุบัติเหตุขึ้นได้ในขณะขับรถเราก็จะได้จัดการได้ก่อน สิ่งแรกที่เราควรหาให้เจอก็คือสิ่งมีชีวิตครับ ไม่ว่าชีวิตใครๆ ก็รักนะครับ ผมหมายถึงทุกชีวิตที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับรถของเราในเวลานั้นครับ จุดที่เรามองไม่เห็นนี่แหละครับเป็นสิ่งที่เราต้องพยายามมองให้เห็นครับ เช่นบริเวณใต้ท้องรถ บริเวณด้านท้ายรถ ฯลฯ การที่เรามองให้ได้ในระยะไกลด้วยการก้มมอง การเดินรอบรถ เท่านี้ก็จะช่วยเราได้แล้วในเบื้องต้นครับ จะละเอียดรอบคอบอย่างไรอันนี้แล้วแต่สะดวก หรือแล้วแต่เวลาของท่านล่ะครับว่าจะมีมากน้อยเพียงไร แต่อย่าลืมทำเป็นอันขาดครับ ก้ออย่างที่บอกไปแล้วนะครับว่าถ้าเกิดอะไรขึ้นมันไม่คุ้มกันเลยนะครับ



สิ่งสำคัญคือบริเวณที่เราจอดรถนั้นเป็นจุดที่จะต้องระมัดระวังเรื่องความปลอดภัยเป็นพิเศษหรือเปล่า เช่นการจอดรถที่บ้าน มุมไหนจุดไหนที่เป็นจุดที่จะทำให้เกิดอันตรายขึ้นได้ อันนี้เราก็ต้องรู้จักประเมินก่อนที่จะนำรถเข้าจอดก่อนนะครับ ยิ่งถ้าบ้านเรามีเด็กเล็กๆ วัยกำลังซนละก้อคงต้องเพิ่มความระมัดระวังเป็นพิเศษ เมื่อเราทราบว่าจุดที่จอดเป็นอันตรายก็ควรจะปรับเปลี่ยนวิธีการจอดรถเสียใหม่ครับ อะไรที่จะช่วยให้เราได้มองเห็นได้ชัดเจนขึ้นก็ควรทำทันที ไม่ว่าจะเป็นสิ่งของ ต้นไม้ ฯลฯ รวมถึงแสงสว่างในจุดบริเวณที่จอดรถด้วยนะครับ เรื่องเล็กๆ ที่เราไม่ได้ทำกันมาตั้งแต่ต้นมันก็จะได้ไม่กลายเป็นเรื่องใหญ่ขึ้นมา ยังมีเรื่องที่ต้อง walk around กันอีกครับ แล้วตามต่อ "ยกที่ 2" กันนะครับ :)

Safety Driving Training

บทความที่ได้รับความนิยม

ผู้ติดตาม